ไก่ฟ้า (GALLOPHEASANTS)
จัดเป็นไก่อีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในวงศ์ของสัตว์ประเภทนก เหตุที่เรียกไก่ฟ้าเพราะมันมีลักษณะเหมือนไก่ แต่มีความสามารถพิเศษบินได้สูงและไกลเหมือนนก

ไก่ฟ้าสกุลต่างๆมีอยู่ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 10 ชนิดได้แก่

1.ไก่ฟ้าหน้าเขียว พบมากทางภาคใต้ จากชุมพรลงไป จนถึงอินโดนีเซีย ไก่ฟ้าหน้าเขียวมีลักษณะพิเศษคือ สีหน้าเป็นกำมะหยี่สีน้ำเงินออกฟ้าคราม ขนบริเวณสะโพกถึงบั้นท้ายเป็นสีแดงเพลิง ขนบนหัวสีเดียวกับตัว รวมเป็นจุกคล้ายพู่แต่แผ่ออก จะมีสีน้ำเงินดำตัดกับหางกะลวยสีขาวเป็นพุ่มโค้งสวยงาม ขาสีแดง(ไก่ฟ้าหน้าเขียวอินโดฯ ขาสีขาว หางสีเหลือง หน้าแดง) หน้าอกมีริ้วขาว แข้งแดง จุกบนหัวสีเดียวกับตัว




2.ไก่ฟ้าพญาลอ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคตะวันออกแถบฉะเชิงเทราตลอดจนถึงเขมร และทางเขาใหญ่ จัดเป็นไก่ฟ้าที่มีขนาดปานกลาง หางจะยาวมาก มีหนังสีแดงสดคล้ายกำมะหยี่ที่บริเวณใบหน้า ขาสีแดง และที่หน้าแข้งเมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีเดือยแหลมอยู่ทางด้านหลังเพื่อเป็นอาวุธต่อสู้ ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย ส่วนตัวเมียสีดำ บนหัวมีขนยาวสีดำเป็นพู่ตั้งชันในยามที่เกี้ยวพาราสีตัวเมียหรือตกใจ ขนด้านล่างลำตัวมีสีดำ ขนบริเวณสะโพกและโคนหาง มีสีแดงเหลือบแซมด้วยสีเหลืองทอง ส่วนหางยาวสลวย จะมีสีเขียวเหลือบไปจนดำ ตัวเมียจะมีสีทึมๆ ลำตัวส่วนใหญ่สีน้ำตาล บริเวณด้านล่างลำตัวและขนหางด้านนอกเป็นสีน้ำตาล บริเวณด้านล่างลำตัวและขนหางด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแดง ท้องมีลายคล้ายเกล็ดสีขาว ปีกสีดำและมีลายทางสีขาวพาดอยู่




3.ไก่ฟ้าลายขวาง พบมากทางภาคเหนือแถบเชียงใหม่ เชียงรายขึ้นไปจนถึงพม่า ไก่ฟ้าชนิดนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว ลักษณะของไก่ฟ้าชนิดนี้ตัวผู้จะมีปากสีขาว ขนหัวบนสุดสีน้ำตาลไล่มาจนถึงคอจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมดำ ขอบตาเป็ฯกำมะหยี่สีแดง ลำตัวมีสีน้ำตาลปนแดง และมีสีขาวตัวขวางบริเวณปีก หางเป็นสีเทาอ่อนมีลายสีดำปนน้ำตาลตัดขวางเป็นบั้งๆ ส่วนตัวเมียจะไม่มีลายบั้งขวาง สีขนจะออกน้ำตาลลายขาวปนดำ




4.ไก่ฟ้าหลังขาวหรือหลังเงิน พบทั่วไปแถบภาคเหนือและเขาใหญ่ (แบ่งแยกออกเป็นไก่ฟ้าหลังขาว และไก่ฟ้าหลังดำหรือไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูรณ์ อยู่แถบเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรีไปจนถึงเขมร
ไก่ฟ้าหลังขาวจันทบูรณ์จะมีหนังบริเวณใบหน้าสีแดง ตัวผู้มีปอยผมสียาวปรกหลังคอ ลำตัวมีสีน้ำตาลออกดำแซมขาว หางยาวสีขาวมีลายรูปตัววี ตัวเมียขนหลังสีน้ำตาล หน้าอกเป็นลายถี่
ส่วนไก่ฟ้าหลังเงินหรือหลังขาวธรรมดา บริเวณขนจากหงอนถึงกลางหลังจรดปลายหางจะมีสีขาว ส่วนปีกทั้งสองข้างจะมีลายขาวตัดดำ หน้าอกเป็ฯสีดำ




5.ไก่ฟ้าหลังเทาแบ่งย่อยออกเป็นไก่ฟ้าหลังเทาแข้งธรรมดาอยู่แถบเขาใหญ่ ถิ่นเดียวกับนกแว่นเหนือ และไก่ฟ้าหลังเทาแข้งแดง จะมีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองกาณฯ
ลักษณะของไก่ฟ้าหลังเทาตามลำตัวจะเป็นสีเทามีลายเป็นสีขาว เส้นหางจะเป็นลายเส้นอ่อนๆสีเทาปนขาว ไล่ไปจนถึงปลายหางจะเป็นสีขาว ขนพู่บนหัวลาดเอียงไปด้านหลัง กำมะหยี่หน้าจะมีสีแดงสด ส่วนตัวเมียจะมีสีน้ำตาล




6.ไก่ป่า แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือไก่ป่าหูขาวและไก่ป่าหูแดง ไก่หูขาวพบตามป่าเมืองกาญฯ ไล่ไปจนถึงภาคใต้ ไก่ป่าหูขาวพบแถบจังหวัดจันทบุรีและเขาใหญ่ ส่วนตัวเมียสองแบบจะมีสีน้ำตาล หงอนมีน้อยมากแทบจะไม่เห็น
ไก่ป่าทั้งสองชนิดมีลักษณะพิเศษคือเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา ส่วนที่เป็นจักรหรือหงอนจะล้มและหดตัวคล้ายตัวเมีย ขนจะหลุดล่วง ลำตัวจะถอดกลายเป็ฯสีดำ จนเมื่อหมดช่วงพรรษาสามเดือนไปแล้ว ลักษณะสีขนก็กลับคืนปกติ




7.นกแว่นเหนือหรือนกแว่นสีเทา เรียกตามถิ่นที่พบคือบริเวณภาคเหนือ เริ่มตั้งแต่เขาใหญ่ขึ้นไปแถบจังหวัดตาก แต่จะมีนกแว่นเหนืออีกประเภทหนึ่งอยู่แถวจุดตัดระหว่างเหนือกับใต้ มีลำตัวใหญ่กว่านกแว่นใต้ ลักษณะกึ่งระหว่างนกแว่นเหนือกับแว่นใต้
นกแว่นเหนือจะมีลักษณะที่แตกต่างจากนกแว่นใต้ตรงที่ปลายพู่ระหว่างตาทั้งสองข้าง มีจะงอยขนพุ่งออกมาข้างหน้าเป็นสีขาวปนน้ำตาล ขนแก้มบริเวณทั้งสองข้างสีขาว ปลายหางเป็นวงกลม สีลำตัวเทาอ่อน แววดอกดวงส่วนขนเป็นวงกลมสีน้ำเงิน ลักษณะการแพนหาง เป็นวงกลมส่วนแววขนที่เป็นวงกลมจะเรียงเป็นแถวไล่ระดับขึ้นไป ส่วนตัวเมียจะไม่มีสีแววที่ขน ขนตามลำตัวมีสีเทา มีแต้มจุดสีดำ




8.นกแว่นใต้หรือนกแว่นสีน้ำตาล เรียกตามถิ่นที่พบคือบริเวณภาคใต้แหล่งที่พบอยู่แถบจังหวัดสุราษฯ ขึ้นไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตัวจะเล็กกว่านกแว่นเหนือ ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล แววสีเขียวคราม เป็นวงกลม ปลายหางเป็นวงรี ระหว่างตาทั้งสองข้าง จะมีจะงอยขนพุ่งออกมาข้างหน้า มีสีเขียวเหลือบปนดำ การแพนหางลักษณะเดียวกับนกแว่นเหนือ ส่วนตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้ ไม่มีขนพู่ระหว่างตา




9.นกหว้า บริเวณที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้ นกหว้าทั่วโลกมี 2 ชนิด คือนกหว้าเวียดนาม กับนกหว้าไทย ลักษณะของนกหว้าไทยนั้นจะมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากนกหว้าเวียดนามคือ ส่วนขาจะมีสีแดง ปากสีดำ นกหว้าเวียดนามจะมีสีตรงข้าม คือส่วนขาจะดำ ปากจะออกสีขาวปนแดง ลักษณะขนบนหัวจะเป็นเส้นมีแถบขนแคบๆ สีดำอยู่ตรงกลาง กะหม่อมถึงท้ายทอยคล้ายเม็ดถั่ว สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลเหลือบสีงาช้าง ขอบสีน้ำตาล ขนปีกยาวมีลายดอกดวงเรียงเป็นแถว คู่หางยาวโค้งยื่นออกมาสีเดียวกับลำตัว หน้าและคอเป็นหนังเกลี้ยงสีออกฟ้าคราม การลำแพนจะใช้ปีกทั้ง 2 ข้างแผ่ขยายออก ส่วนตัวเมียจะไม่มีขนจุกดำที่หัว แต่จะเป็นเส้นขนกระจายออกไปทั่วทั้งหัวปีกสั้น ขนพู่หางไม่ยาวเหมือนตัวผู้




10.นกยูงไทย ในอดีตเราสามารถพบเห็นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนกยูงไทยแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ตามรายงานของกรมป่าไม้พบว่าเท่าที่มีอยู่ก็ที่บริเวณเขาบันได ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม โดยธรรมชาตินกยูงจะชอบอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณที่มีลำน้ำใสสะอาด
ลักษณะทั่วไปของนกยูงไทยตามลำตัวมีสีเขียวเหลือบ ขาและคอยาว ปีกมีสีน้ำตาลปนดำ ขนหัวจะเป็นพู่แข็งรวมเป็นจุกสีเขียวตั้งตรง (เป็นลักษณะที่แตกต่างจากนกยูงอินเดียที่เห็นได้ชัด ซึ่งนกยูงอินเดียขนบนหัวจะตั้งเรียงเป็นแผง เหมือนพัด) ที่หัวและคอมีสีเขียวเหลือบแกมน้ำเงิน ตัวผู้จะมีขนคลุมหางยื่นยาวออกไปมีจุดสีน้ำเงินแกมดำ พื้นวงกลมสีเหลืองและเขียวกระจายทั่วขนคลุมหาง ส่วนตัวเมียมีสีคล้ายตัวผู้ แต่ไม่มีขนคลุมหางยาวเท่าตัวผู้ จะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้อย่างเห็นได้ชัด