กฤษณา
Aquilaria crassna Pierre L. Lec.

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ   ลักษณะทั่วไป  การขยายพันธุ์  การปลูกและการเจริญเติบโต การจัดการ
การใช้ประโยชน     การทำให้เกิดน้ำมันกฤษณา

ชื่อพื้นเมือง กฤษณา(ภาคตะวันออก)  กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้)
     (บาลี)  อครุ, ตคร
     (จีน) ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ)
      (อังกฤษ) Eagle Wood , Lignum Aloes , Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia, Akyaw.
ชื่อวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทย มี 3 ชนิด คือ Aquilaria crassna Pierre, A.malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ไม้สกุล Aquilaria มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่แถบเอเชียเขตร้อน ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฟิลิปปินส์ และเอเชียใต้แถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฐาน เบงกอล รัฐอัสสัม รวมทั้งกระจายไปทางเอเชียเหนือจนถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนการกระจายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้

1. A. crassna พบในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ภาคกลาง (กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพบมากที่สุดที่บ้านห้วยตะหวัก อำเภอน้ำหนาว บริเวณเขาค้อ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครนายก ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี โดยเฉพาะพบมากที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณดงพญาไฟ)

  2. A. malaccensis พบเฉพาะภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา โดยเฉพาะที่เขาช่อง จังหวัดตรัง) มักพบกฤษณาต้นใหญ่ที่สุดถูกโค่นเหลือแต่ตอทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก

3. A. subintegra พบเฉพาะทางภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว)

กฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร สามารถขึ้นได้สูงถึง 1,100 เมตร หรือมากกว่าจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น พบที่ยอดเขาเขียวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทั่วไปมักพบกฤษณาปนกับพรรณไม้อื่น เช่น ยาง ยมหอม ยมหิน หว้า ก่อเดือย และก่อชนิดอื่น ๆ สีเสียดเทศ กระโดงแดง และอื่น ๆ ที่บริเวณป่าเขาช่อง จังหวัดตรัง น่าจะเป็นถิ่นที่ดีของกฤษณา พบกฤษณามีเส้นขนาดผ่าศูนย์กลางมากกว่า 100 เซนติเมตร ซึ่งต่างกับที่พบบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะเล็กกว่า 50 เซนติเมตร (สมคิด, 2525)

ลักษณะทั่วไป
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำ ๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบ สีเทาอมขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริ เป็นร่องเล็ก ๆ เมื่อมีอายุมาก ๆ ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียงสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม

ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็ก ๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือ Terminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ในประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

 

krisana.jpg (21832 bytes)
ผล

ผล เป็นแบบ Capsule รูปไข่กลับค่อนข้างแบน ส่วนที่ติดกับขั้วเล็ก เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในเดือนสิงหาคม ผลเริ่มแก่และจะแตกอ้า มีเมล็ด 1 หรือ 2 เมล็ด แบบ Ovoid ขนาดของเมล็ดยาว 5-6 เซนติเมตร มีหางเมล็ดมีแดงหรือส้ม ปกคลุมด้วยขนสั้นนิ่มมีสีแดงอมน้ำตาล

krisana2.jpg (18919 bytes)
ดอก

  krisana3.jpg (9875 bytes)
ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติ คำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว (เสตครู) และกฤษณาดำ (ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอม

เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำ จะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี (กรมป่าไม้, 2486)

ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว [Resin] อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b .Agarofuran, a -Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532) 

  คุณภาพของกฤษณาในประเทศไทย สมคิด (2534) ได้แบ่ง
เป็น 4 เกรด ดังนี้
เกรด 1 ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้มีสีดำ มีราคาแพงมากประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ หนักกว่าน้ำ จึงจมน้ำ
เกรด 2 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล มีราคาประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ
เกรด 3 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2 มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ เบากว่าน้ำ จึงลอยน้ำ
เกรด 4 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ 400-600 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 0.39 เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ ชนิดนี้ ชาวบ้านจะเรียกว่าไม้ปาก

ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีกฤษณาสะสมอยู่ จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ

 

krispltn3.jpg (57899 bytes)
การปลูกไม้กฤษณาในสวนยางพารา
ของเกษตรกร จ.ตราด