|
ชื่อพื้นเมือง
กฤษณา(ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี)
ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้)
(บาลี) อครุ, ตคร
(จีน) ติ่มเฮียง
(ไม้หอมที่จมน้ำ) (อังกฤษ)
Eagle Wood , Lignum Aloes , Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia,
Akyaw. ชื่อวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทย มี
3 ชนิด คือ Aquilaria crassna Pierre, A.malaccensis Lamk.
(ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ
โดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae |
|
การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม้สกุล Aquilaria มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่แถบเอเชียเขตร้อน
ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฟิลิปปินส์
และเอเชียใต้แถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฐาน เบงกอล รัฐอัสสัม
รวมทั้งกระจายไปทางเอเชียเหนือจนถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนการกระจายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย
มีรายละเอียดดังนี้
1. A. crassna
พบในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ภาคกลาง
(กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพบมากที่สุดที่บ้านห้วยตะหวัก อำเภอน้ำหนาว
บริเวณเขาค้อ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ
นครนายก ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี โดยเฉพาะพบมากที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
บริเวณดงพญาไฟ) |
|
2. A.
malaccensis พบเฉพาะภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา โดยเฉพาะที่เขาช่อง จังหวัดตรัง)
มักพบกฤษณาต้นใหญ่ที่สุดถูกโค่นเหลือแต่ตอทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก
3. A. subintegra พบเฉพาะทางภาคตะวันออก
(ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว)
กฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น
จึงมักพบตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร
สามารถขึ้นได้สูงถึง 1,100 เมตร หรือมากกว่าจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น
พบที่ยอดเขาเขียวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
โดยทั่วไปมักพบกฤษณาปนกับพรรณไม้อื่น เช่น ยาง ยมหอม ยมหิน หว้า ก่อเดือย
และก่อชนิดอื่น ๆ สีเสียดเทศ กระโดงแดง และอื่น ๆ ที่บริเวณป่าเขาช่อง
จังหวัดตรัง น่าจะเป็นถิ่นที่ดีของกฤษณา
พบกฤษณามีเส้นขนาดผ่าศูนย์กลางมากกว่า 100 เซนติเมตร
ซึ่งต่างกับที่พบบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะเล็กกว่า 50
เซนติเมตร (สมคิด, 2525) |
|
ลักษณะทั่วไป กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่
18-21 เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร
เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำ ๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง
มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบ สีเทาอมขาว
เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป
เปลือกนอกจะปริ เป็นร่องเล็ก ๆ เมื่อมีอายุมาก ๆ
ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง
ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน
รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียงสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม
ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน
แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม
ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็ก ๆ
มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือ
Terminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก
ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ในประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
|
|

ผล
ผล เป็นแบบ Capsule
รูปไข่กลับค่อนข้างแบน ส่วนที่ติดกับขั้วเล็ก เปลือกแข็ง มีขนสีเทา
ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในเดือนสิงหาคม
ผลเริ่มแก่และจะแตกอ้า มีเมล็ด 1 หรือ 2 เมล็ด แบบ Ovoid
ขนาดของเมล็ดยาว 5-6 เซนติเมตร มีหางเมล็ดมีแดงหรือส้ม
ปกคลุมด้วยขนสั้นนิ่มมีสีแดงอมน้ำตาล | |
|

ดอก
|
|
 |
|
ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ
และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา
ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติ
คำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว (เสตครู) และกฤษณาดำ
(ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอม
เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ
ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย
ขัดชักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำ จะทนทานพอประมาณ
เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว
ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี
(กรมป่าไม้, 2486)
ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก
และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่าง
ๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา
ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว [Resin] อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ
Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b .Agarofuran, a
-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532)
|
|
คุณภาพของกฤษณาในประเทศไทย สมคิด (2534) ได้แบ่ง เป็น 4 เกรด
ดังนี้ เกรด 1 ชาวบ้านเรียกว่า
ไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้
ทำให้มีสีดำ มีราคาแพงมากประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น
1.01 เท่าของน้ำ หนักกว่าน้ำ จึงจมน้ำ เกรด 2
มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล
มีราคาประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ เกรด 3 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2
มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ
เบากว่าน้ำ จึงลอยน้ำ เกรด 4
มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ
400-600 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 0.39 เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ ชนิดนี้
ชาวบ้านจะเรียกว่าไม้ปาก
ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีกฤษณาสะสมอยู่ จะมีน้ำหนักเพียง 0.3
เท่าของน้ำ |
|
|
|

การปลูกไม้กฤษณาในสวนยางพารา ของเกษตรกร
จ.ตราด
|
|
|